วิกฤตการณ์ไครเมียนับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลกในปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วโลก เนื่องจาก เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อความสัมพันธ์ในประชาคมระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก
“วิกฤตการณ์ไครเมีย” เป็นเหตุการณ์ที่มีความต่อเนื่องจาก “ยูโรไมดาน” หรือการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลฝ่ายนิยมรัสเซียของนายวิกเตอร์ ยานูโควิช อดีตประธานาธิบดียูเครน ที่ปฏิเสธการลงนามเพื่อบูรณาการร่วมกับสหภาพยุโรปหรือ EU และหันไปผูกสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซียแทน
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของแหลมไครเมียตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนแห่งสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1954 เมื่อนายนิกิตา ครุสชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น ยกแหลมไครเมียให้กับยูเครนเนื่องในโอกาสครบรอบ 300 ปี ที่ยูเครนอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายไครเมียกลายมาเป็นสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย ภายใต้การปกครองของยูเครน ขณะเดียวกัน แหลมไครเมียยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ของรัสเซียในทะเลดำ รัสเซียจึงได้เช่าฐานทัพเรือเซวาสโตโปลจากยูเครนด้วย
วิกฤตการณ์ไครเมียเริ่มขึ้นเมื่อรัฐสภายูเครนลงมติถอดถอนนายยานูโควิชออกจากตำแหน่ง หลังนายยานูโควิชหลบหนีไปยังรัสเซีย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียในแหลมไครเมียและภาคตะวันออกของยูเครนเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่นี้เป็นฐานเสียงสำคัญของนายยานูโควิช และกล่าวหารัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งนิยมยุโรปว่า ทำรัฐประหารนายยานูโควิช ภายใต้การสนับสนุนจากสหรัฐฯและประเทศยุโรปตะวันตก
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ฝ่ายนิยมรัสเซียบนแหลมไครเมีย เริ่มการชุมนุมประท้วงครั้งแรกที่เมืองเซวาสโตโปล และกองกำลังติดอาวุธฝ่ายนิยมรัสเซียได้เข้ายึดสถานที่ทำการของรัฐบาลยูเครน ตัดระบบการโทรคมนาคมทุกชนิดออกจากแผ่นดินยูเครน รวมทั้ง ล้มรัฐบาลของสาธารณรัฐปกครองตนเองและนายเซอร์เก อัคซอนอฟ แกนนำฝ่านนิยมรัสเซียได้สถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของไครเมียแทนนายอนาโตลี โมกิลรอฟ และประกาศให้มีการลงประชามติแยกตัวออกจากยูเครนและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับรัสเซียหรือไม่
วันที่ 1 มีนาคม รัฐสภารัสเซียอนุมัติคำขอของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในการให้ความช่วยเหลือและปกป้องผลประโยชน์ของชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียในแหลมไครเมีย และมีการส่งทหารจากฐานทัพเรือรัสเซียในเซวาสโตโปลเข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนแหลมไครเมีย พร้อมกดดันให้ทหารยูเครนบนแหลมไครเมียถอนกำลังออกไปด้วย
วันที่ 16 มีนาคม ประชาชนบนแหลมไครเมียออกมาลงประชามติเพื่อกำหนดว่าจะเข้าร่วมกับรัสเซียหรือไม่ ผลปรากฏว่า ประชาชนร้อยละ 97 สนับสนุนการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และรัฐสภาไครเมียประกาศเอกราชออกจากยูเครนในวันต่อมา ตามมาด้วยการลงนามระหว่างผู้นำฝ่ายนิยมรัสเซียของไครเมียกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในกฎหมายการผนวกรวมไครเมียเข้ามาเป็นส่วนของสหพันธรัฐรัสเซียเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ท่ามกลางการคัดค้านของประชาคมระหว่างประเทศ
ในวันที่ 27 มีนาคม ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติหรือ UNGA ผ่านข้อมติให้การลงประชามติของไครเมียเป็นโมฆะโดยมี 100 ประเทศลงมติรับ 11 ประเทศลงมติไม่รับมติ และ 58 ประเทศงดออกเสียง ส่งผลให้ปัจจุบันแหลมไครเมียยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียทางพฤตินัย แต่เป็นส่วนหนึ่งของยูเครนทางนิตินัย ซึ่งต่อมารัฐสภายูเครนประกาศให้ไครเมียเป็นดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกดินไครเมียส่งผลสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครน จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยังคงไม่มีท่าทีสิ้นสุดลงแต่อย่างใดในปัจจุบัน
ประวัติไครเมีย