ทำความเข้าใจบริบทแวดล้อมสถานการณ์ ‘วิกฤติไครเมีย’ ในยูเครน

เหตุการณ์ที่รัสเซียส่งกองทัพเข้าไปในเขตอธิปไตยของยูเครน กลายเป็นความขัดแย้งระดับนานาชาติที่ทั่วโลกจับตามองในขณะนี้ รานงานชิ้นนี้มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์และบริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ไครเมีย ที่กลายเป็นปัญหาระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก 4 มี.ค. 2557 สถานการณ์ในไครเมีย ประเทศยูเครน มีการเคลื่อนไหวอย่างฉับพลันทันด่วนในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา โดยหลังจากเกิดการโค่นล้มประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช ของยูเครน จนกระทั่งกองทัพรัสเซียได้เข้าไปยึดอาคารสำคัญเขตปกครองตนเองไครเมีย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลรักษาการของยูเครนบอกว่าการกระทำของรัสเซียถือเป็นการรุกราน

ในขณะที่เหตุการณ์กำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้ก็กลายเป็นที่จับตาของทั่วโลก มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่างๆ เช่น ดิมิทรี เทรนิน จากศูนย์คาร์เนกี้มอสโกว ผู้เขียนบทความให้กับเดอะการ์เดียน ประเมินว่า วิกฤตการณ์ในไครเมียรอบล่าสุดอาจทำให้เกิดสงครามเย็นรอบใหม่ได้

บริบททางประวัติศาสตร์ของไครเมีย

อย่างไรก็ตามมีสำนักข่าวบางแห่งได้ให้ความรู้เกี่ยวกับไครเมียและบริบทพื้นฐานของเหตุการณ์ เช่น สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ได้กล่าวถึงสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย ว่าเป็นดินแดนที่มีส่วนผูกโยงกับรัสเซียในเชิงประวัติศาสตร์และการเมืองทางด้านประชากรศาสตร์ ไครเมียมีประชากรอยู่ราว 2 ล้านคน ร้อยละ 58 เป็นผู้มีเชื้อสายรัสเซียซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ ร้อยละ 24 เป็นผู้มีเชื้อสายยูเครนอาศัยอยู่ทางตอนเหนือ และร้อยละ 12 เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายตาตาร์อยู่ในแถบตอนกลาง ทางด้านบีบีซีระบุว่า รัสเซียมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ไครเมียเป็นส่วนใหญ่ตลอดช่วง 200 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการผนวกรวมดินแดนโดยจักรวรรดิรัสเซียในปี 2336 จนกระทั่งในปี 2507 ไครเมียก็ถูกโอนให้เป็นของยูเครนซึ่งในตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ซึ่งเหตุการณ์นี้ผู้มีเชื้อสายรัสเซียบางคนมองว่าเป็น “ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์” คนในพื้นที่นี้ลงคะแนนเสียงให้กับวิคเตอร์ ยานูโควิช จำนวนมากในการเลือกตั้งปี 2553 และหลายคนคิดว่ายานูโควิชเป็นเหยื่อของการรัฐประหารอย่างผิดกฎหมายในเหตุการณ์ล่าสุดนี้ การประท้วงที่ถูกเรียกว่ายูโรไมดาน (Euromaidan) เกิดขึ้นจากความไม่พอใจหลังจากรัฐบาลยูเครนเลิกการเตรียมการเซ็นสัญญาความร่วมมือกับสหภาพยุโรป ซึ่งถูกมองว่าเป็นเพราะเกรงอิทธิพลของรัสเซีย

การประท้วงดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วจนถึงช่วงวันที่ 18-22 ก.พ. 2557 ก็เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นตั้งแต่การปะทะกันอย่างหนักระหว่างผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่จนมีผู้เสียชีวิต 82 คน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็มีอาวุธ และหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์แปรพักตร์หรือหลบหนีของสมาชิกพรรคการเมืองของยานูโควิชจนทำให้ฝ่ายค้านสามารถเปิดประชุมสภาและสั่งถอดถอนยานูโควิชด้วยคะแนนเสียง 328 ต่อ 0 และให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 25 พ.ค. ส่วนตัวยานูโควิชเองหลบหนีไป

สถานะทางกฎหมายของไครเมีย

สภานะทางกฎหมายของไครเมียในปัจจุบันอยู่ในสถานะกึ่งปกครองตนเองซึ่งหมายความว่าไครเมียสามารถเลือกตั้งสภาภูมิภาคของตนและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในเมืองหลวงซิมเฟอโรปอล

โดยในวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา สภาของไครเมียก็ได้แต่งตั้งผู้นำฝ่ายสนับสนุนรัสเซียขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการคือเซอกี อักเซนอฟ ในช่วงประชุมสภา ขณะเดียวกับที่กลุ่มติดอาวุธยึดครองอาคารเอาไว้ ไครเมียไม่มีอำนาจในการดำเนินการด้านการต่างประเทศ แต่อักเซนอฟก็ประกาศว่าตัวเขาเป็นผู้นำเหล่าทัพและตำรวจทั้งหมดในไครเมีย รวมถึงเรียกร้องให้รัสเซียช่วยคืนความสงบเรียบร้อยให้กับภูมิภาค

ในวันที่ 1 มี.ค. สภารัสเซียก็สั่งการให้มีปฏิบัติการแทรกแซงโดยทหารในยูเครนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัสเซีย ทำให้ประชาคมโลกพากันประณามการกระทำในครั้งนี้ ส่วนรักษาการประธานาธิบดียูเครน โอเลกซานเดอร์ เทอชินอฟ กล่าวอ้างว่าการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีประจำไครเมียเป็นเรื่องผิดหลักรัฐธรรมนูญ

โกลบอลโพสต์ระบุว่าวิกฤติยูโรไมดานทำให้มีการพูดถึงการแยกตัวของไครเมียจากยูเครน แต่การแยกตัวของไครเมียอาจจะเป็นการโดดเดี่ยวตัวเองทางเศรษฐกิจ ขณะที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัสเซียในยูเครนกล้าแข็งขึ้น ไมเคิล ฮิคาริ เซซิเร เขียนไว้ในยูราเซียเน็ทว่า “เมื่อมองในภาพใหญ่แล้ว การเล่นเกมในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองของรัสเซียไม่ใช่เพื่อต้องการแยกไครเมียออกมา แต่เพื่อต้องการให้ยูเครนทั้งหมดกลับไปอยู่ในระบอบเครือข่ายของรัสเซียทั้งหมด

ทำความเข้าใจบริบทแวดล้อมสถานการณ์ ‘วิกฤติไครเมีย’ ในยูเครน

วิกฤติไครเมีย