ปมขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนปะทุอีกครั้ง สะท้อนที่มาวิกฤตรัฐกันชนอย่างไครเมีย

หนึ่งในสถานการณ์คุกรุ่นสำคัญที่ทั่วโลกกำลังจับตาอยู่ในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องราวความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หลังกองทัพรัสเซียได้เปิดฉากยิงและยึดเรือรบของยูเครนในน่านน้ำทะเลดำ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลเป็นวงกว้างว่าอาจก่อให้เกิดการปะทะรุนแรง จนนำไปสู่สงครามที่จะสร้างความเสียหายอันยากจะประเมิน ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศมีที่มาที่ไปอย่างไร และเหตุใดทั่วโลกถึงต้องให้ความสำคัญขนาดนี้ In Focus สัปดาห์นี้จะพาไปหาคำตอบพร้อมๆกัน

จุดเริ่มต้นความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย

ยูเครนและรัสเซียมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนาน ในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลายลงในปี 1991 ซึ่งส่งผลให้ดินแดนต่างๆ แยกตัวออกเป็นประเทศเอกราช โดยที่ยูเครนซึ่งมีพรมแดนทางตะวันออกเกือบทั้งหมดติดกับรัสเซีย มีประชากรส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกมีแนวคิดและวิถีชีวิตคล้ายคลึงไปในทางรัสเซีย และใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ ขณะที่ประชากรในฝั่งตะวันตกซึ่งมีพื้นที่ติดกับยุโรปกลับมีแนวคิดและวิถีชีวิตใกล้เคียงกับชาวยุโรป และเริ่มเปิดรับระบบทุนนิยมเข้ามา ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างผู้ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกและตะวันออก ส่งผลให้ประชาชนในประเทศซึ่งแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่ฝักใฝ่สหภาพยุโรป (Pro-Euromaiden) และฝ่ายที่ฝักใฝ่รัสเซีย (Pro-Russian) มีปัญหาความไม่ลงรอยกันมาโดยตลอด

ฟางเส้นสุดท้ายระหว่างรัสเซียและยูเครนขาดสะบั้นลงในปี 2014 เมื่อประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งเป็นรู้กันว่าอยู่ฝ่ายฝักใฝ่รัสเซียและมีรัฐบาลรัสเซียหนุนหลังอยู่ ปฏิเสธไม่นำยูเครนเข้าร่วมในสหภาพยุโรป (EU) ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะคาดหวังกันว่าการเข้าร่วมกับ EU นั้นจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองดีขึ้น จนเกิดการลุกฮือเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดี ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จนนานาชาติต้องออกมาไกล่เกลี่ยเพื่อลดความสูญเสีย และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี หลังจากปธน.ยานูโควิชถูกรัฐสภาขับออกจากตำแหน่งและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

กระทั่งประชาชนในรัฐไครเมีย ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน เริ่มแสดงความไม่พอใจและก่อจลาจลขึ้น ด้วยการปิดสถานที่ราชการและปลดธงชาติยูเครนลงจากเสาและจะชักธงชาติรัสเซียขึ้นแทน อีกทั้งมีกองกำลังไม่ระบุฝ่าย ซึ่งคาดกันว่าเป็นทหารของฝั่งรัสเซียเข้ายึดสถานที่สำคัญต่างๆ ภายในรัฐ พร้อมเรียกร้องให้ผนวกไครเมียกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ขณะที่ฝ่ายรัสเซียก็ได้ยกกองกัพเข้ามาประชิดพรมแดนยูเครน ทำให้ความขัดแย้งภายในประเทศลุกลามบานปลายจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“ไครเมีย” จากดินแดนประวัติศาสตร์สู่รัฐกันชนทางยุทธศาสตร์ที่รัสเซียต้องการครอบครอง

คำตอบของข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดชาวไครเมียถึงไม่ต้องการอยู่กับยูเครนแต่อยากกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ราวๆคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ไครเมียอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียมาเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี ก่อนที่นายนิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียตในขณะนั้นจะยกดินแดนดังกล่าวให้เป็นของยูเครน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นดินแดนของสหภาพโซเวียตอยู่ในปี 1954 จนยูเครนได้รับเอกราชหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ไครเมียก็ได้เป็นรัฐปกครองตนเองภายใต้การปกครองของยูเครน และเป็นเสมือนรัฐมรดกที่ยูเครนได้รับมาจากสหภาพโซเวียต แต่เรื่องราวต่อมาไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในไครเมียเป็นคนเชื้อสายรัสเซีย อีกทั้งรัฐไครเมียยังเป็นที่ตั้งของเมืองเซวาสโตโพล ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันกับรัสเซียมาตั้งแต่ครั้งอดีตจนได้รับการขนานนามจากชาวรัสเซียว่าเป็น “เมืองแห่งความรุงโรจน์แห่งชนรัสเซีย” ทำให้ประชาชนในบริเวณนั้นมีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าพวกเขาควรหวนคืนสู่แผ่นดินแม่ ขณะที่รัฐบาลรัสเซียก็ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังด้วยการอ้างเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตลอดมา

แนวคิดในการแยกตัวเป็นเอกราชเพื่อกลับสู่ผืนแผ่นดินแม่ได้ติดตรึงอยู่ในใจของชาวไครเมียที่เชื่อว่าตนเองเป็นคนรัสเซียมาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 16 มี.ค.2014 ไครเมียได้จัดการลงประชามติเพื่อแยกดินแดนออกจากยูเครนและผนวกรวมเข้ากับรัสเซีย ซึ่งผลการทำประชามติปรากฎออกมาว่าผู้ที่มาลงคะแนนเสียงถึง 96.77% สนับสนุนให้ไครเมียกลับเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียอีกครั้ง และทันทีที่ผลประชามติดังกล่าวออกมา ในวันที่ 18 มี.ค.ปีเดียวกัน ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ก็ออกมารับลูกจากทางไครเมียอย่างรวดเร็ว ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเพื่อผนวกสาธารณรัฐไครเมียทางตอนใต้ของยูเครน และเมืองเซวาสโตโพลเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยไม่สนเสียงทัดทานจากนานาชาติ ขณะที่ยูเครนได้ออกมาปฏิเสธการอ้างสิทธิของรัสเซีย

สำหรับสาเหตุที่ทำให้รัสเซียต้องการครอบครองดินแดนส่วนนี้นั้น เป็นเพราะว่าไครเมียซึ่งมีลักษณะเป็นคาบสมุทรที่ตั้งอยู่ระหว่างทะเลดำและทะเลอาซอฟ โดยมีช่องแคบเคิร์ชเป็นพรมแดนที่คั่นกลางพื้นที่ทางตะวันออกของไครเมียและรัสเซีย ถูกมองว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัสเซีย และมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มหาศาลทั้งน้ำมันและอาหารทะเล อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่ตั้งของฐานทัพเรือรัสเซียในเซวาสโตโพลซึ่งรัสเซียได้เช่าพื้นที่มาจากยูเครน เพื่อใช้ฐานทัพแห่งนี้เป็นพื้นที่ส่งกองกำลังหนุนไปยังรัฐบาลซีเรีย โดยมีเป้าหมายที่จะต่อกรกับฝ่ายต่อต้านที่มีชาติตะวันตกหนุนหลังอยู่ และที่สำคัญไปกว่านั้น รัสเซียมองว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นเสมือนกันชนที่จะป้องกันไม่ให้อิทธิพลของกองกำลังป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) แผ่ขยายเข้าสู่ทะเลดำได้

ประชามติเจ้าปัญหา ปมขัดแย้งรุนแรงต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

การทำประชามติของเขตปกครองตนเองไครเมียเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากยูเครนได้จุดกระแสความต้องการแบ่งแยกดินแดนให้ลุกโชน และแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางความคิดอย่างชัดเจนระหว่างทางการยูเครนและประชาชนที่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน และเมื่อประกอบกับการที่รัสเซียยื่นมือเข้ามาสนับสนุนกองกำลังของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนด้วยแล้ว ความขัดแย้งและการสู้รบจึงได้ลุกลามบานปลายออกไปเป็นวงกว้างทั่วพื้นที่ในภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งถือเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ขณะที่รัสเซีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับภาคตะวันออกของยูเครน ก็ได้ส่งกำลังทหารเข้ามาประจำการตามแนวชายแดน โดยหลายฝ่ายมองว่า รัสเซียให้การสนับสนุนทั้งในด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่างๆแก่กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ผู้นำรัสเซียปฏิเสธเสมอมา ขณะที่ทางการยูเครนก็ได้สั่งการให้มีการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้สถานการณ์คุกรุ่นและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนดูเหมือนจะเริ่มมีแสงแห่งความหวังเกิดขึ้น หลังจากเมื่อการประชุมผู้นำ 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้มีการหารือกันที่กรุงมินสค์ ประเทศเบลารุส เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2015 จนนำมาสู่ข้อตกลงสันติภาพมินสค์ ซึ่งกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายถอนอาวุธหนักทั้งหมดออกจากพื้นที่กันชนเป็นระยะทาง 50-140 กิโลเมตร และยุติการสู้รบในยูเครนนับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2015 เป็นต้นไป

ไฟสงครามลุกโหมอีกครั้ง หลังรัสเซียยิงเรือรบยูเครนในทะเลดำ

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันยังคงคุกรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการทำข้อตกลงสันติภาพร่วมกันแล้วก็ตาม และได้เริ่มส่อเค้ารุนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังจากกองทัพรัสเซียได้ยิงและยึดเรือรบยูเครน 3 ลำ บริเวณนอกชายฝั่งของไครเมีย โดยอ้างว่าเรือของยูเครนรุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำของรัสเซียอย่างผิดกฎหมายและได้ดำเนินการที่อันตรายโดยไม่ใส่ใจต่อคำเตือนของรัสเซียที่ต้องการให้เรือทั้ง 3 ลำยุติการละเมิดน่านน้ำ พร้อมระบุว่า ยูเครนเป็นฝ่ายยั่วยุให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในช่องแคบเคิร์ช

ด้านยูเครนได้ออกมาตอบโต้การกระทำของรัสเซีย โดยระบุว่า เป็นการกระทำที่ก้าวร้าว และยังละเมิดสนธิสัญญาปี 2003 ที่มีการลงนามโดยประเทศที่ใช้ช่องแคบเคิร์ช และทะเลอาซอฟร่วมกัน พร้อมตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกในบางพื้นที่ของประเทศเป็นเวลา 30 วัน

ส่องท่าทีนานาชาติต่อสถานการณ์ล่าสุดบนคาบสมุทรไครเมีย

การปะทะกันระหว่างรัสเซียและยูเครนในทะเลดำได้สร้างความไม่พอใจ และก่อให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นในหมู่ประชาชนว่าอาจทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทั่วโลก โดยทั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ต่างออกมาประกาศเตรียมจัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นทันทีในวันถัดมา ก่อนที่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) จะแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนในบริเวณช่องแคบเคิร์ช พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น

ส่วนนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้นำ 27 ชาติของ EU ก็ได้ออกมาทวีตข้อความประณามการใช้ความรุนแรงของรัสเซียต่อกองเรือของยูเครน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียปล่อยเรือ 3 ลำของยูเครน ขณะที่นักการเมืองหลายคนของยุโรปก็ออกมาเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหม่

ด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดการหารือประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียนอกรอบการประชุมสุดยอด G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินาในสัปดาห์นี้ ล่าสุด ก็ออกมาแสดงท่าทีว่าอาจยกเลิกการประชุมกับปธน.ปูติน หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีกด้วย

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมายาวนานนี้ ดูเหมือนยังไม่มีวี่แววที่จะยุติลงง่ายๆ และคงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความเป็นเอกภาพขององค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย หลังจากต้องรับมือกับศึกหนักมาอย่างไม่หยุดหย่อนมาตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น EU ที่ยังคิดไม่ตกเรื่องการถอนตัวของอังกฤษ หรือแม้แต่ NATO ที่ต้องเผชิญกับท่าทีที่เปลี่ยนไปของประธานาธิบดีสหรัฐ การปะทะรุนแรงของรัสเซียที่พร้อมเข้าชนโดยไม่เกรงใครหน้าไหนกับยูเครนซึ่งมีชาติตะวันตกหนุนหลังจะดำเนินไปอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันใกล้ชิดต่อไป