การผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์การรวมชาติที่ไม่เสียเลือดเนื้อที่เกิดขึ้นล่าสุด อย่างไรก็ตาม ชาติตะวันตกประกาศควํ่าบาตร และประณามการกระทำของรัสเซีย
การผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์การรวมชาติที่ไม่เสียเลือดเนื้อที่เกิดขึ้นล่าสุด อย่างไรก็ตาม ชาติตะวันตกประกาศควํ่าบาตร และประณามการกระทำของรัสเซีย แต่ผู้นำรัสเซียกลับไม่ใยดี
เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อเขตปกครองตนเองไครเมีย ลงนามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการ หลังชาวไครเมียกำหนดชะตากรรมของตนเอง ด้วยการลงประชามติขอแยกตัวออกจากยูเครนไปรวมกับรัสเซีย อย่างไรก็ตาม วิกฤตไครเมียยังไม่จบ เนื่องจากชาติตะวันตกเริ่มใช้มาตรการควํ่าบาตรรัสเซีย แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย หวาดวิตก ด้วยเหตุผล 5 ประการดังต่อไปนี้
1. การผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เป็นการลบประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดของรัสเซีย หลังดินแดนดังกล่าวตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของยูเครนตั้งแต่ปี 2497 เมื่อนิกิต้า ครุสชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตสมัยนั้นยกแหลมไครเมียให้เป็นของขวัญแด่สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน เนื่องในโอกาสครบรอบ 300 ปี ที่ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และชาวตาตาร์ในไครเมียได้เสียสละชีวิตอย่างกล้าหาญในสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะเดียวกัน ยูเครนยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสหกรรมขนาดใหญ่ ผลิตกระเเสไฟฟ้าเพื่อหล่อเลี้ยงสหภาพโซเวียตด้วย
2. ไครเมียต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เนื่องจากร้อยละ 97 ของชาวไครเมีย ลงมติสนับสนุนการแยกตัวออกจากยูเครน เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ส่วนรัสเซียอ้างความชอบธรรมในการส่งทหารเข้าไปในไครเมียเพื่อปกป้องคุ้มครองชาวรัสเซีย ให้พ้นจากอันตรายของกลุ่มฟาสซิสต์ยูเครน ขณะที่ ความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของรัสเซีย ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ชาวไครเมียต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียด้วย
3. รัสเซียไม่ต้องการครอบครองยูเครนไปมากกว่านี้ แม้ว่ารัสเซียจะเคลื่อนกำลังและยุทโธปกรณ์ประชิดชายแดนยูเครนแล้ว ปูตินต้องการเพียงเข้าไปคุ้มครองชาวรัสเซียในยูเครน และเอาแหลมไครเมียคืนจากยูเครนเท่านั้น แท้จริงแล้วชาวไครเมียก็ยินยอมพร้อมใจไปอยู่กับรัสเซียด้วยเช่นกัน
4. ชาติตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หรืออียู เปิดหน้าสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงขับไล่นายวิกเตอร์ ยานูโควิช อดีตประธานาธิบดียูเครน ผู้ลี้ภัยอยู่ในรัสเซีย รวมทั้ง สนับสนุนรัฐบาลรักษาการยูเครน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของชาติตะวันตกเพื่อต้านทานรัสเซีย หลังการรุกรานแหลมไครเมียเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และการลงประชามติแยกตัวออกจากยูเครนที่ตะวันตกมองว่าไม่มีความชอบธรรม
5. การควํ่าบาตรรัสเซียไม่ส่งผลกระทบต่อรัสเซียมากนัก หลังสหรัฐฯและอียูลำดับรายชื่อชาวรัสเซียที่ถูกอายัดทรัพย์สินและระงับวีซ่า ในทางตรงกันข้าม อียูมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย โดยหลังการผนวกรวมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างเป็นทางการเเล้ว สหภาพยุโรปทำได้เพียงประณามการกระทำของรัสเซียเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การผนวกแหลมไครเมียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เป็นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งตำแหน่งแห่งที่ของอำนาจเริ่มเปลี่ยนถ่ายไปสู่รัสเซียมากยิ่งขึ้น หลังวิกฤตสงครามกลางเมืองในซีเรีย ที่รัสเซียสามารถสกัดกั้นการโจมตีซีเรียของสหรัฐฯ ส่วนประเด็นไครเมียนั้น บ่งบอกให้ชาวโลกได้รู้ว่า “หมีขาว” ตัวนี้ได้ตื่นจากการหลับไหลตลอด 20 ปีที่ผ่านมาแล้ว