ไครเมีย พาเที่ยวพระราชวังข่านแห่งไครเมีย

 

มรดกตกทอดจากตาตาร์ (Tatars) สู่ฉากหนึ่งในบทกวีชิ้นเอกของปุชกิ้น (Pushkin)

บางท่านอาจจะไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าวังแขก ๆ แห่งนี้จะตั้งอยู่ในทวีปยุโรป แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเพราะว่า คาบสมุทรไครเมียตั้ง (Crimean Peninsula) อยู่ในทำเลทองกึ่งกลางทะเลดำ จุดเชื่อมโยงการค้าที่สำคัญอีกแห่งระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก จึงไม่แปลกใจที่ไครเมียจะผ่านการครอบครองจากหลายชนชาติ หลายอารยธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรีก เจนัว ซีเธียน ตาตาร์ และรัสเซีย

ด้านในของพระราชวังข่าน (คุณชนะ คราประยูร หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางกับผู้เขียน ให้เกียรติเป็นแบบในภาพนี้)

เดินทางสู่ซิมฟีโรปอล (Simferopol)

เพียงหนึ่งชั่วโมงจาก ท่าอากาศยานซิมฟีโรปอล (Simferopol) สนามบินหลักของสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Republic of Crimea) เราก็จะมาถึงเมืองที่เรียกว่า “บัคชีซาราย” (Bakhchysarai) ซึ่งผู้เขียนเรียกชื่อเล่นอย่างติดปากว่า “ผักชีสาหร่าย” เมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นหุบเขา ช่องเขาเล็ก ๆ ที่ไม่สูงมากนัก แต่น่าจะเป็นป้อมปราการทางธรรมชาติที่ดีของผู้ปกครองชาวตาตาร์

ด้านในพระตำหนัก จำลองบรรยากาศสมัยข่านครองเมือง

“บัคชีซาราย” (Bakhchysarai) เป็นภาษาตาตาร์ ภาษาตระกูลเติร์กที่มีความหมายว่าเมืองหรือป้อมแห่งสวนดอกไม้ อธิบายลักษณะของวังแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีที่ตัววังมีกำแพงล้อมรอบราวกับป้อมปราการ โดยด้านในมีสวนที่มีดอกไม้ผลิดอกออกใบอย่างสวยงามสมชื่อ

โถงท้องพระโรงใหญ่ ประดับประดาด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ แชนเดอเลียร์ และกระจกสีสไตล์เปอร์เซีย
กระจกสีแบบเปอร์เซียภายในท้องพระโรง
ผู้เขียนในชุดของข่านแห่งไครเมียแบบเต็มยศ
(หากไปในช่วงจังหวะดี จะมีซุ้มให้เช่าชุดทั้งข่านชายและหญิง สนนราคาเพียงชุดละ 100 รูเบิ้ลเท่านั้น)

พระราชวังข่านเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งบักชีซาราย สร้างในช่วงศตวรรษที่ 16 และเคยมีพื้นที่ใหญ่ต่อถึง 18 เฮคเตอร์ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 4.3 เฮคเตอร์เท่านั้นตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป โดยประกอบไปด้วยตำหนัก ฮาเร็ม บ่อสรง สุเหร่าหลวงใหญ่น้อย สวนดอกไม้ สุสานหลวง โดยสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบออตโตมานเติร์กผสมผสานกับเปอร์เซียนและอิตาเลียน ตามคติของชาวมุสลิมเกี่ยวกับสรวงสวรรค์ซึ่งวังแห่งนี้จะเป็นการจำลองสวรรค์มาไว้บนโลกมนุษย์โดยท่านข่านนี่เอง

เส้นทางสู่ฮาเร็ม
ตำหนักฮาเร็มจากด้านนอก
เจ้าจอมหม่อมห้าม ห้ามเดินทางออกข้างนอกตำหนัก ดังนั้นจึงมีหอคอยเพื่อชมวิวและสังเกตการณ์ระยะไกลเพื่อผ่อนคลายความเครียดที่ไมไ่ด้ออกไปข้างนอก

เดิมทีที่ตั้งรกรากของชาวตาตาร์แห่งไครเมียจะอยู่บริเวณหุบเขาอัชลามา-เดเร แต่ต่อมาเกิดคับแคบและขยับขยายได้ลำบากจึงมีการเฟ้นหาทำเลที่ตั้งราชธานีใหม่ซึ่งก็คือบริเวณบัคชีซารายในปัจจุบัน และเริ่มมีการสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นในรัชสมัยของข่านซาหิบ กีราย (Khan Sahib Giray) โดยอาคารหลังแรกเป็นสุเหร่าหลวงและถือว่าเป็นหนึ่งในสุเหร่าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยสร้างในปี 1532 และต่อมาจึงมีการก่อสร้างอาคารอื่น ๆ และมีการขยับขยายพื้นที่เพิ่มเติม

จำลองภายในฮาเร็ม
อีกมุมหนึ่งภายในส่วนของฮาเร็ม

ราชวงศ์กีรายปกครองรัฐข่านแห่งไครเมียเรื่อยมาจนกระทั่งปลายเข้าสู่ปลายราชวงศ์ในรัชสมัยของข่านคีริม กีราย (Khan Qirim Giray) รัชสมัยที่มีการขยายวังอย่างกว้างขวาง โดยในยุคนี้เองที่เป็นยุคสมัยที่เกิดตำนานนำพุแห่งบัคชีซารายซึ่งโดนใจอเล็กซานเดอร์ ปุชกิ้น กวีเอกแห่งรัสเซียเป็นอย่างมากจนถึงกับนำไปแต่งในบทกวีนิพนธ์เลยทีเดียว

น้ำพุแห่งบัคชีซาราย อนุสรณ์สถานแห่งความรักของข่านคิริมกับนางในชาวโปลนามมาเรีย แรงบันดาลใจให้กับ
ปุชกิ้นนำไปแต่งเป็นบทกวีนิพนธ์

เรื่องมีอยู่ว่าท่านข่านคีริมได้ตกหลุมรักหนักมากกับนางในชาวโปลในฮาเร็มนางหนึ่งนามว่ามาเรีย ปาโตชกา แต่ทว่าชีวิตจริงก็เหมือนละครช่องเจ็ด มีนางเอกก็ต้องมีนางอิจฉา มีเจ้าจอมหม่อมห้ามชาวจอร์เจียนางหนึ่งนามว่าซาเรนาเป็นหนึ่งในมเหสีองค์โปรดของท่านข่านคีริมที่ไม่ถูกชะตาและเกรงว่าสาวชาวโปลนางนี้จะมาแย่งความรักของเธอไป ในที่สุดมาเรียก็สิ้นบุญลงจากแรงหึงหวงนั้น ความทราบถึงท่านข่านคีริมก็ทรงโทมนัสร้องไห้หนักมากผิดวิสัยท่านข่านผู้เกรียงไกรที่ไม่ว่าจะเจอศัตรูแบบไหนก็จะไม่มีหวั่นหลั่งน้ำตาลูกผู้ชายให้ พระองค์จึงสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมาอย่างหนึ่งเพื่อรำลึกและแสดงออกถึงความเสียใจที่ไม่มีวันลบเลือนได้ ผลงานที่ออกมาจึงเป็นน้ำพุแห่งบักชีซารายที่สร้างจากหินอ่อนและให้มีสายน้ำไหลไปตลอดกาลเพื่อเป็นตัวแทนของพระองค์ที่ทรงโทมนัสเสียใจมากจนเกินที่จะบรรยายดังน้ำตาที่ไหลไม่หยุด

ข่านชาฮิน กีราย ข่านองค์สุดท้ายแห่ไครเมีย

ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง มีขึ้นก็ต้องมีลง ถัดมาเพียงรัชสมัยเดียวในรัชสมัยข่านซาฮิน กิราย (Khan Sahin Giray) ข่านองค์สุดท้ายแห่งรัฐข่ายแห่งไครเมีย พระองค์เป็นข่านที่นำความทันสมัยมาสู่ไครเมีย มีการปฏิรูปหลายอย่างทั้งเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญมีการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่คัฟฟา (ฟีโอโดเซีย) พระองค์เป็นข่านที่ทรงพระปรีชายิ่ง ถึงขนาดที่จักรพรรดินีแคเทอรีนมหาราชินีแห่งรัสเซียยังเอ่ยพระโอษฐ์ชมว่า “เป็นเจ้าชายชาวตาตาร์ที่มีความสุภาพ อ่อนน้อมและเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง” แต่น้ำน้อยก็ย่อมแพ้ไฟเมื่อรัฐข่านแห่งไครเมียต้องปิดฉากลงเมื่อรัสเซียทำสงครามชนะออตโตมานเติร์กและเข้าครอบครองไครเมียโดยสมบูรณ์ ส่วนพระองค์ต้องลี้ภัยไปยังออตโตมานเติร์กพันธมิตรเก่า และถูกประหารชีวิตเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามต่อราชบัลลังก์แห่งสุลต่านออตโตมานเติร์กในที่สุด

จักรพรรดินีแคเทอรีนที่สอง มหาราชินีและนายพลกรีโกรี ปาโทมกิน ผู้พิชิตศึกไครเมียมาถวายพระนาง

และแล้วไครเมียก็ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียในสมัยจักรพรรดินีแคเทอรีนที่สอง มหาราชินีซึ่งทำความฝันของจักพรรดิปีเตอร์ที่หนึ่ง มหาราชที่หวังครอบครองดินแดนริมทะเลน้ำอุ่นตลอดปีได้สำเร็จ โดยไครเมียได้กลายเป็นบ้านของกองเรือทะเลดำอันเกรียงไกรของรัสเซีย ในอีกร้อยกว่าปีต่อมาโชคชะตาได้เล่นตลกกับชาวตาตาร์อีกครั้งเมื่อจอมเผด็จการชาวจอร์เจียโยซิฟ สตาลินในยุคสหภาพโซเวียตได้ทำการบังคับให้ชาวตาตาร์ทั้งหมดย้ายถิ่นที่อยู่ออกจากไครเมียไปอยู่ในเอเชียกลาง เพราะความหวาดระแวงว่าจะให้ความร่วมมือกับกองทัพนาซีเยอรมันผู้รุกรานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ปัจจุบันชาวตาตาร์มีจำนวนลดลงมาก เมื่อเทียบกับชาวรัสเซีย

ประวิติไครเมีย

ไครเมีย พาเที่ยวพระราชวังข่านแห่งไครเมีย