เอเอฟพี – รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศคว่ำบาตรทางการเงินต่อกลุ่มบุคคลซึ่งมีส่วนพัวพันกับการผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นของรัสเซีย และหนุนหลังกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครน วันนี้ (5 ส.ค.)
โตเกียวผนึกกำลังสหรัฐฯ และยุโรปออกคำสั่งอายัดทรัพย์สิน 40 บุคคล และอีก 2 กลุ่ม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ในยูเครน ทั้งนี้เพื่อบีบให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน หยุดใช้อิทธิพลหนุนหลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และยอมช่วยคลี่คลายความขัดแย้งในยูเครนอย่างสันติ
บทลงโทษของญี่ปุ่นพุ่งเป้าไปที่บุคคลสำคัญซึ่งเข้าข้างมอสโก เช่น อดีตประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช แห่งยูเครน และเซอร์เกย์ อักสโยนอฟ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐไครเมีย เป็นต้น
สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากไครเมีย จะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลโตเกียวเสียก่อน
“ญี่ปุ่นจะร่วมมือกับกลุ่มประเทศ G7 และประชาคมโลกในการคลี่คลายสถานการณ์ยูเครนด้วยวิธีทางการทูต และแนวทางสันติ” โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงต่อสื่อมวลชน
“เราได้พิจารณาเลือกบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงกับการผนวกคาบสมุทรไครเมีย และทำลายเสถียรภาพในภาคตะวันออกของยูเครน โดยตรวจสอบกับรายชื่อคว่ำบาตรของสหรัฐฯและสหภาพยุโรปแล้ว”
คาบสมุทรไครเมียถูกผนวกไปเป็นดินแดนของรัสเซียเมื่อเดือนมีนาคม หลังพลเมืองที่นั่นได้ลงประชามติขอแยกตัวจากกรุงเคียฟ จนนำมาซึ่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างมอสโกและโลกตะวันตก
รัสเซียกล่าวหาว่าสหรัฐฯ สนับสนุนรัฐบาลยูเครนให้ใช้กำลังปราบปรามกบฏ และ “ควรต้องมีส่วนรับผิด” ต่อเหตุนองเลือดที่เกิดขึ้นด้วย ขณะที่วอชิงตันและยุโรปก็หาว่ารัสเซียปลุกปั่นยุยงให้ผู้คนในภาคตะวันออกของยูเครนคิดกบฏต่อรัฐบาลกลาง และยังเป็นผู้ผลิตจรวดซึ่งถูกนำไปใช้ยิงใส่เครื่องบินโดยสาร มาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH17 จนตกในเขตอิทธิพลของกบฏยูเครนเมื่อเดือนกรกฎาคม
โศกนาฏกรรมดังกล่าวทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือของมาเลเซียแอร์ไลน์สเสียชีวิตรวม 298 ราย
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นเคยสั่งคว่ำบาตรทางการเงินพลเมืองรัสเซีย 23 คนมาแล้ว รวมถึงปฏิเสธออกวีซาให้ด้วย
ก่อนวิกฤตการณ์ไครเมียจะปะทุขึ้นเมื่อต้นปีนี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เคยพยายามที่จะผูกสัมพันธ์กับรัสเซียและประธานาธิบดีปูติน ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
สุกะ ซึ่งถือเป็นมือขวาคนสนิทของผู้นำญี่ปุ่น ยืนยันว่า โตเกียวยังพร้อมที่จะเจรจากับรัสเซียเสมอ