ผลประชามติไครเมียไม่เป็นทางการ เกือบ100% ขอแยกตัวจากยูเครนเข้าร่วมกับรัสเซีย ขณะที่กลุ่มประเทศตะวันตกลั่นไม่รับรองผลอ้างไม่ชอบธรรม
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลการลงประชามติในดินแดนไครเมีย ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของยูเครนอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่าคนส่วนใหญ่ราว 95.5% เห็นชอบที่จะให้แยกตัวออกจากยูเคน เพื่อไปรวมเข้ากับรัสเซียแทน โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนครั้งนี้ประมาณ 83% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด ขณะที่ ผู้คัดค้านส่วนใหญ่ ต่างพากันบอยคอตการลงประชามติในคร้้งนี้
ด้านกลุ่มประเทศตะวันตก และรัฐบาลยูเครน ก็ได้ออกโรงประณามการทำประชามติดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่น่าละอาย พร้อมทั้งกล่าวหารัสเซียว่าพยายามที่แบ่งแยกดินแดนไครเมียไปจากยูเครน หลังจากที่กองทัพแดนหมีขาาวส่งกองกำลังติดอาวุธเข้ามาในไครเมีย
นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยูเครน ยังขู่ที่จะลงโทษนักการเมืองท้องถิ่นในไครเมีย ที่เรียกร้องให้มีการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนออกจากยูเครน ไปรวมเข้ากับรัสเซียอีกด้วย โดยกล่าวหาว่า บุคคลเหล่านี้เป็น “แกนนำในการขบวนการแบ่งแยกดินแดน” และต้องการทำลายอำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยอาศัยกองทัพรัสเซียเข้ามาคุ้มครองตัวเอง
ขณะที่ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ประกาศว่าประชาคมโลกจะไม่ยอมรับการลงประชามติในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของยูเครน อีกทั้งยังเป็นการจัดขึ้น ท่ามกลางแรงบีบของกำลังทหารที่มาจากรัสเซียอีกด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรัสเซียออกมาตอบโต้ว่า การลงประชามติดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้ว พร้อมทั้งได้แสดงความวิตกกังวลต่อความล้มเหลวของรัฐบาลยูเครนในการปกป้องคนเชื้อสายรัสเซียในดินแดนยูเครนให้รอดพ้นจากภันคุกคามอีกด้วย
ทั้งนี้ การลงประชามติดังกล่าว มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามความต้องการของประชาชนในดินแดนไครเมียกว่า 1.5 ล้านคนว่า ต้องการจะรวมเข้ารัสเซีย หรือ จะอยู่กับยูเครนเช่นเดิม โดยมีอิสระในการดูแลตนเองมากขึ้น
การลงประชามติเป็นผลพวงมาจากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในยูเครน ที่ดำเนินมากว่า 4 เดือน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในดินแดนไครเมีย ซึ่งพูดภาษารัสเซีย ไม่พอใจต่อการโค่นล้มรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีนโยบายใกล้ชิดกับชาติตะวันตกขึ้นปกครองแทนเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
ขณะที่ รัสเซีย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลของ อดีตประธานาธิบดี ยานูโควิช ประกาศสนับสนุนการทำประชามติดังกล่าว พร้อมทั้งย้ำว่า มีสิทธิที่จะเข้ามาในไครเมีย เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ชาวรัสเซียในประเทศยูเครน