รัสเซีย-ยูเครน ปะทะทางทะเล เปิดฉากศึกชิงน่านน้ำทะเลอาซอฟ ?

ช่องแคบบริเวณสะพานเชื่อมระหว่างรัสเซีย-ไครเมีย ซึ่งเป็นทางเข้าออกทะเลอาซอฟเพียงแห่งเดียวถูกปิดกั้น

รัฐสภายูเครนลงมติเห็นชอบกับข้อเสนอของประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชงโก ให้บังคับใช้กฎอัยการศึกเป็นเวลา 30 วันในบางพื้นที่ของประเทศ หลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 พ.ย.) รัสเซียเข้าปะทะและยึดกองเรือของยูเครนบริเวณช่องแคบเคียร์ช ติดกับคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งเป็นช่องทางเดินเรือเพียงทางเดียวที่ยูเครนจะเข้าถึงเมืองท่าในทะเลอาซอฟได้

การประกาศใช้กฎอัยการศึกนี้มีขึ้น หลังจากที่ผู้นำยูเครนเห็นว่ารัสเซียมีท่าทีคุกคามข่มขู่และเป็นภัยต่อความมั่นคงของยูเครนมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งสำหรับประธานาธิบดีโปโรเชงโกแล้ว กรณีที่รัสเซียจะบุกโจมตีและรุกรานดินแดนยูเครนในอนาคตอันใกล้ ไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงเท่าใดนัก

กฎอัยการศึกนี้จะประกาศใช้ใน 10 ภูมิภาคของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชายแดนติดต่อกับรัสเซีย หรือพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฎที่มีกองกำลังรัสเซียประจำการอยู่ รวมทั้งบริเวณแนวชายฝั่งทะเลดำและทะเลอาซอฟ โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ไปจนถึงวันที่ 27 ธ.ค.

President of Ukraine Petro Poroshenko leads a session of the National Security and Defence Council of Ukraine in Kiev early on November 26, 2018

ภายใต้กฎอัยการศึก พลเมืองยูเครนจะต้องอยู่ในความสงบ ไม่สามารถชุมนุมหรือก่อการประท้วงต่าง ๆ รัฐบาลยังสามารถเกณฑ์พลเมืองเข้าเป็นทหารหรือช่วยทำการสู้รบได้ตลอดเวลา ซึ่งผู้นำยูเครนมองว่ามีความจำเป็นต่อสถานการณ์ตึงเครียดในขณะนี้ โดยกองทัพยูเครนก็กำลังพยายามยกระดับการเฝ้าระวังเหตุและเตรียมพร้อมด้านการสู้รบให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองในรัฐสภายูเครนบางส่วนวิตกว่า ประธานาธิบดีโปโรเชงโกอาจฉวยโอกาสขยายเวลาการใช้กฎอัยการศึกให้ยาวนานออกไปในภายหลัง ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำหนดจะมีขึ้นในปลายเดือนมีนาคมปีหน้า แต่นายโปโรเชงโกย้ำว่า เขาจะไม่ใช้กฎอัยการศึกเพื่อยืดเวลาของตัวเองให้อยู่ในอำนาจได้ยาวนานต่อไป เขาเพียงแค่ต้องการจะกุมอำนาจที่แข็งแกร่งไว้ในมือชั่วคราวเพื่อต่อกรกับรัสเซียเท่านั้น

การเผชิญหน้าทางทะเลครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 4 ปี

เหตุปะทะทางทะเลระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เพิ่งเกิดขึ้น ถือว่าเป็นเหตุขัดแย้งที่รุนแรงและเปิดเผยที่สุดระหว่างสองประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งยิ่งยกระดับความตึงเครียดในภูมิภาคที่สืบเนื่องมาจากเหตุรัสเซียผนวกดินแดนไครเมียในปี 2014 และการที่กองกำลังรัสเซียสนับสนุนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก ให้ยิ่งน่าวิตกกังวลขึ้นไปอีก

เมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ยูเครนอ้างว่าได้ส่งเรือปืนหุ้มเกราะของกองทัพเรือ 2 ลำ พร้อมกับเรือลากจูงอีก 1 ลำ ออกเดินทางจากเมืองโอเดสซา เพื่อไปยังเมืองท่ามาริวปอลในทะเลอาซอฟ แต่เรือของกองทัพรัสเซียได้เข้ามาขัดขวางและใช้เรือลำหนึ่งพุ่งเข้าชนเรือลากจูงของยูเครน

ด้านรัสเซียกล่าวหาว่ายูเครนล่วงล้ำน่านน้ำที่เป็นเขตแดนของตน มีการนำเรือบรรทุกน้ำมันของรัสเซียมาจอดขวางช่องแคบเคียร์ชซึ่งเป็นทางเข้าทะเลอาซอฟ บริเวณใต้สะพานเชื่อมแดนรัสเซีย-ไครเมีย ในขณะที่กองเรือยูเครนกำลังเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว ทั้งยังมีการระดมกำลังเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ให้มาบินอยู่เหนือจุดดังกล่าวด้วย

การที่รัสเซียปิดกั้นทางเข้าทะเลอาซอฟ ทำให้บรรยากาศของการเผชิญหน้าตึงเครียดขึ้นทุกขณะ จนในที่สุดรัสเซียเปิดฉากยิงใส่กองเรือของยูเครนในช่วงเย็นของวันนั้น และเข้ายึดเรือของกองทัพยูเครนทั้งสามลำ ลูกเรือชาวยูเครน 6 คนได้รับบาดเจ็บ

Ukrainian Nationalists attend their rally in front of parliament in Kiev, Ukraine, 26 November 2018

ทางการรัสเซียอ้างว่ากองเรือยูเครนกระทำผิดกฎหมายโดยล่วงล้ำน่านน้ำ เนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลรัสเซียมีคำสั่งระงับการเดินเรือในบริเวณโดยรอบช่องแคบเคียร์ชชั่วคราว แต่ทางการยูเครนแย้งว่าคำสั่งดังกล่าวละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ทะเลดำเป็นพื้นที่เสรีในการเดินเรือ ทั้งยังย้ำถึงสนธิสัญญาที่สองประเทศได้ทำไว้เมื่อปี 2003 ที่รับประกันให้เรือของยูเครนเข้าถึงช่องแคบเคียร์ชและทะเลอาซอฟโดยปราศจากการขัดขวาง

ยูเครนยืนยันว่าได้แจ้งรัสเซียเรื่องการเดินทางของกองเรือดังกล่าวล่วงหน้าแล้ว แต่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้รับแจ้งตามที่ยูเครนกล่าวอ้างมา ทั้งยังกล่าวหาว่าปฏิบัติการเดินเรือของยูเครนครั้งนี้มีหน่วยตำรวจความมั่นคงที่คล้ายกับหน่วยเคจีบีในอดีตอยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเรือของยูเครนสองลำได้ล่องผ่านช่องแคบเคียร์ชไปเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน โดยไม่มีปัญหากับทางการรัสเซียแต่อย่างใด

Russian President Vladimir Putin accompanied by Chief Executive of Sberbank German Gref while visiting Mria hotel in Yalta, Crimea November 23, 2018
 

ผลของการปะทะกันครั้งนี้ ทำให้ต่างฝ่ายต่างยกระดับความเข้มงวดกวดขันในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางทะเลขึ้นเป็นทวีคูณ โดยรัสเซียนั้นเริ่มตรวจค้นเรือทุกลำในทะเลอาซอฟที่เดินทางมาจากเมืองท่าของยูเครน

ด้านยูเครนนั้นกล่าวหาว่ารัสเซียพยายามจะเข้ายึดครองทะเลอาซอฟ และพยายามบ่อนทำลายเศรษฐกิจของยูเครน โดยขัดขวางไม่ให้เรือของตนเข้าถึงเมืองท่าสำคัญในทะเลอาซอฟ อย่างเช่นเมืองมาริวปอลได้

ไม่ยอมให้ซ้ำรอยไครเมีย

โจนาห์ ฟิชเชอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีซึ่งอยู่ที่กรุงเคียฟของยูเครนรายงานว่า ผู้บัญชาการกองทัพเรือยูเครนประกาศกร้าวว่าจะต่อสู้จนลมหายใจสุดท้าย และจะไม่ยอมให้ทะเลอาซอฟตกไปเป็นของรัสเซีย เหมือนกับกรณีของดินแดนไครเมียเมื่อ 4 ปีที่แล้วอย่างเด็ดขาด

แต่ในความเป็นจริงนั้น ยูเครนด้อยกว่ารัสเซียในเรื่องของแสนยานุภาพทางทะเลอย่างมาก ทั้งยังตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเกือบทุกทางในเรื่องการรักษาบูรณภาพทางดินแดนของตนเอง หากรัสเซียต้องการครอบครองทะเลอาซอฟจริง ยูเครนจะไม่สามารถต้านทานได้เลย ผลการรบจะเป็นดังที่เห็นกันในเหตุปะทะครั้งล่าสุด

ก่อนหน้านี้การเดินเรือในแถบช่องแคบเคียร์ชเป็นไปอย่างสันติและเสรี โดยทั้งเรือของรัสเซียและยูเครนสามารถผ่านเข้าออกได้โดยมีอิสระเต็มที่ และไม่มีการคำนึงถึงแนวเขตแดนอย่างชัดเจน แต่สภาพการณ์ที่มีความเป็นมิตรนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นับแต่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียเป็นต้นมา

ไม่มีการแบ่งเขตช่องแคบเคียร์ชทางตะวันออกให้เป็นของรัสเซีย และแบ่งให้ฝั่งทางตะวันตกเป็นของยูเครนอีกต่อไป รัสเซียได้เข้าควบคุมดูแลบริเวณดังกล่าวทั้งหมด โดยรีบก่อสร้างสะพานเชื่อมแดนรัสเซีย-ไครเมีย ขึ้นอย่างรวดเร็ว อันนับเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่งสำหรับยูเครน

รัสเซียยังเพิ่มจำนวนเรือรบและเรือตรวจการณ์ติดอาวุธขึ้นเป็นทวีคูณในแถบช่องแคบเคียร์ชและทะเลอาซอฟ โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่เดี๋ยวนี้เรือสินค้าของยูเครนที่ต้องการผ่านเข้าไปในบริเวณดังกล่าว อาจต้องถูกรัสเซียสกัดเพื่อตรวจค้นนานหลายวัน ซึ่งทำให้บริษัทเดินเรือสินค้าที่ขนส่งเหล็กกล้าหรือธัญพืชจากเมืองท่ามาริวปอล ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าวันละ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือวันละเกือบ 5 แสนบาท ส่งผลให้หลายรายพากันหลีกเลี่ยงเส้นทางเดินเรือที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้

เศรษฐกิจของเมืองท่าสำคัญในยูเครนซบเซาลงอย่างทันตาเห็น ทีมข่าวบีบีซีรายงานว่าแทบจะไม่มีเรือสินค้าเข้าจอดเทียบเลยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนต้องมีการลดวันทำงานของคนงานในท่าเรือลง

แม้ว่าประชาคมนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติซึ่งนำโดยสหรัฐฯ จะตำหนิการกระทำของรัสเซีย แต่ก็ไม่มีท่าทีว่าจะยื่นมือช่วยเหลือยูเครนอย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก ทำให้ยูเครนต้องดิ้นรนพึ่งพาตนเอง ด้วยการเร่งเสริมเขี้ยวเล็บของกองทัพเรือในทะเลดำ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเทียบชั้นกับรัสเซียได้ยากเต็มที

รัสเซีย-ยูเครน ปะทะทางทะเล เปิดฉากศึกชิงน่านน้ำทะเลอาซอฟ

วิกฤตการณ์ไครเมีย