วิกฤตการณ์ไครเมีย

วิกฤตการณ์ไครเมีย พ.ศ. 2557 เป็นวิกฤตการณ์ทางการทูตในเขตปกครองตนเองไครเมีย ประเทศยูเครน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติยูเครน พ.ศ. 2557 ซึ่งโค่นรัฐบาลประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูคอวิชในเคียฟ เมืองหลวงของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ มีกลุ่มชาติพันธุ์รัสเซียบางกลุ่มจัดการประท้วงคัดค้านเหตุการณ์ในเคียฟ และต้องการความสัมพันธ์หรือบูรณาการกับประเทศรัสเซียใกล้ชิดยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการเพิ่มอัตตาณัติหรือให้เอกราชแก่ไครเมียถ้าเป็นไปได้ การประท้วงบางจุดมิได้ทั้งเกิดขึ้นเองหรือจำกัดอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งทั้งหมด กลุ่มอื่น ซึ่งที่โดดเด่นประกอบด้วยชาวตาตาร์ไครเมียและชาติพันธุ์ยูเครน เดินขบวนสนับสนุนการปฏิวัติ ยานูคอวิชที่ถูกโค่นอำนาจลี้ภัยไปยังรัสเซีย และเรียกร้องให้กองทัพรัสเซียเข้าแทรกแซงและรักษา “กฎหมายและความสงบเรียบร้อย” ในยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไครเมีย อย่างลับ ๆ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทหารติดอาวุธและสวมหน้ากากโดยไม่มีเครื่องยศซึ่งมีพฤติการณ์นิยมรัสเซียยึดอาคารสำคัญจำนวนหนึ่งในไครเมีย รวมทั้งอาคารรัฐสภาและท่าอาากศยานสองแห่ง กลุ่มชายดังกล่าวทำลายโทรคมนาคมและบริการอินเทอร์เน็ตแทบทั้งหมดระหว่างไครเมียกับยูเครนส่วนที่เหลือ ภายใต้การปิดล้อมและมีผู้ชุมนุมอยู่ภายใน สภาไครเมียสูงสุดปลดรัฐบาลของสาธารณรัฐปกครองตนเองและเปลี่ยนตัวประธานสภารัฐมนตรีไครเมีย อะนาโทลีย์ มอฮิลอว์ (Anatolii Mohyliov) เป็นเซร์ฮีย์ อัคซอนอว์ (Sergey Aksyonov) กองกำลังรัสเซียซึ่งประจำอยู่ในไครเมียตามความตกลงทวิภาคีได้รับการเสริมกำลังและเรือรบสองลำจากกองเรือบอลติกของรัสเซียละเมิดน่านน้ำยูเครน รัฐบาลยูเครนกล่าวหารัสเซียว่าแทรกแซงกิจการภายในของรัสเซีย ขณะที่ฝ่ายรัสเซียปฏิเสธการกล่าวหาดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

วันที่ 1 มีนาคม รัฐสภารัสเซียให้อำนาจประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูตินใช้กำลังทหารในยูเครน หลังมีการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้นำนิยมรัสเซียอย่างไม่เป็นทางการที่เพิ่งได้รับแต่งตั้ง เซร์ฮีย์ อัคซอนอว์ รักษาการประธานาธิบดียูเครน โอเล็กซันดร์ ทูร์ชินอฟ (Oleksandr Turchynov) มีคำสั่งว่าการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไครเมียไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แหล่งข่าวฝ่ายนิยมรัฐบาลอ้างว่าอาจมีการปลอมแปลงระหว่างการลงมติจัดการลงประชามติเอกราชปี 2557 และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในไครเมีย สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงว่า ผลใด ๆ จากการลงประชามติแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งยูเครนและไครเมีย ซึ่งต้องมีการลงประชามติทั่วประเทศ ผู้นำชาวตาตาร์ไครเมียกล่าวว่าพวกตนจะไม่เข้าร่วมหรือยอมรับการลงประชามติแยกประเทศใด ๆ

วันที่ 2 มีนาคม ยูเครนประกาศพร้อมรบเต็มกำลังและระดมพลทั่วประเทศ รองนายกรัฐมนตรีไครเมีย Rustam Temirgaliev รายงานว่ากองกำลังติดอาวุธทั้งหมดในดินแดนไครเมียล้วนถูกปลดอาวุธหรือเปลี่ยนฝ่ายแล้ว กระทรวงกลาโหมยูเครนอ้างว่ารายงานเหล่านี้ไม่เป็นความจริง ไม่นานจากนั้น หัวหน้ากองทัพเรือยูเครน Denis Berezovsky ประกาศในแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ว่าเขาปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจากรัฐบาลที่ประกาศตนเองในเคียฟและประกาศความภักดีต่อทางการและประชาชนไครเมีย นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ ประณามรัฐบาล Yatsenyuk ว่าไม่ชอบธรรม กองทัพเรือรัสเซียเริ่มการฝึกซ้อมทางทหารในมณฑลคาลินินกราด ใกล้กับพรมแดนลิทัวเนียและโปแลนด์ ประธานาธิบดีลิทัวเนียและโปแลนด์เรียกร้องการหารือตามสนธิสัญญานาโต ข้อ 4 วันเดียวกัน ช่องโทรทัศน์ที่รัฐบาลรัสเซียเป็นเจ้าของบางส่วน แชแนลวันรัสเซีย ออกรายงานเน้นว่า ชาวยูเครน 140,000 คนได้หลบหนีมายังรัสเซียผ่านพรมแดน ซึ่งได้เกิดการโต้เถียงเพราะรายงานดังกล่าวรวมภาพการจราจรติดขัดบนถนนไปยังโปแลนด์ มิใช่รัสเซีย

สภาแอตแลนติกเหนือและสหภาพยุโรปจะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำฉุกเฉินในประเด็นดังกล่าว สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนีและสหภาพยุโรปประณามรัสเซีย โดยกล่าวหาว่ารัสเซียละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดอธิปไตยของยูเครน

วันที่ 4 มีนาคม ปูตินหยุดการฝึกซ้อมทางทหารและถอนกำลังกลับจากพรมแดนยูเครน[  ปูตินแถลงในการจัดประชุมผู้สื่อข่าวว่าทหารที่ยึดครองฐานทัพมิใช่ทหารรัสเซีย หากแต่เป็นกำลังป้องกันตนเองท้องถิ่น เขากล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะส่งกองกำลังเข้าไปในยูเครน แต่รัสเซียสงวนสิทธิที่จะใช้ทุกวิถีทางเป็นทางเลือกสุดท้ายต่อความเสี่ยงเกิดอนาธิปไตย ปูตินแถลงสนับสนุนการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของชาวไครเมียเพื่อตัดสินสถานภาพของตนเกี่ยวกับยูเครน แต่อ้างว่ารัสเซียจะไม่ผนวกไครเมียด้วยกำลัง

สภาไครเมียสูงสุดลงมติเมื่อสมัยประชุมวันที่ 6 มีนาคมว่าด้วยการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเต็มตัวหลังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยูเครนมานานกว่า 6 ทศวรรษการวินิจฉัยของสภาสูสุดจะถูกเสนอต่อชาวไครเมียผ่านการลงประชามติหากรัสเซียรับคำร้องดังกล่าว การลงประชามติเดิมประกาศกำหนดไว้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม จะเลื่อนขึ้นมาเป็นวันที่ 16 มีนาคม 2557 และคำถามจะถูกเปลี่ยนเพื่อสะท้อนการลงมติเมื่อวันที่ 6 มีนาคมของสภาสูงสุดว่าจะสนองรับการรวมชาติกับรัสเซียหรือไม่

ในวันที่ 9 มีนาคม ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน โทรศัพท์ถึงนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล และนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด แคเมอรอน โดยปกป้องการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวออกของผู้นำไครเมียนิยมรัสเซีย โดยกล่าวว่า พฤติการณ์ของพวกเขามุ่งเพื่อปดป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของประชากรในพื้นที่ อย่างไรก็ดี แมร์เกิลบอกปูตินว่า การลงประชามติดังกล่าวละเมิดรัฐธรรมนูญยูเครนและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

วันที่ 11 มีนาคม รัฐสภาไครเมียลงมติและอนุมัติคำประกาศอิสรภาพสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียและนครเซวัสโตปอลจากยูเครน ตั้งเป็นสาธารณรัฐไครเมีย โดยมีมติเห็นชอบ 78 เสียง จากทั้งหมด 100 เสียง

วันที่ 15 มีนาคม รัสเซียยับยั้งข้อมติสหประชาชาติที่ประกาศให้การลงประชามติในวันรุ่งขึ้นว่าด้วยสถานภาพในอนาคตของสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียไม่สมบูรณ์ มีประเทศสมาชิก 13 ประเศเห็นชอบ ได้แก่ สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก ชิลี อาร์เจนตินา ลิทัวเนีย จอร์แดน ไนจีเรีย ชาด รวันดา ออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ส่วนจีนงดออกเสียง วันที่ 16 มีนาคม ชาวไครเมียออกเสียงในการลงประชามติว่าจะเข้าร่วมกับรัสเซียอีกครั้งหรือคืนสู่สถานภาพก่อนรัฐธรรมนูญปี 2535 รัฐมนตรีกลาโหมยูเครนและรัสเซียตกลงพักรบในไครเมียกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม

วันที่ 17 มีนาคม รัฐสภาไครเมียประกาศอิสรภาพจากยูเครนอย่างเป็นทางการ และขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเต็มตัว รัสเซียรับรองเอกราชของไครเมียในวันเดียวกัน

วันที่ 27 มีนาคม สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติผ่านข้อมติไม่มีผลผูกมัดประกาศให้การลงประชามติไครเมียที่รัสเซียหนุนหลังเป็นโมฆะ โดยมี 100 ประเทศลงมติรับ 11 ประเทศลงมติไม่รับ และ 58 ประเทศงดออกเสียง

วันที่ 15 เมษายน รัฐสภายูเครนประกาศว่าไครเมียเป็นดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองชั่วคราว