ไครเมีย (Crimea) : เพชรมงกุฎแห่งทะเลดำถ้าไม่บอกว่าที่นี่คือ “รัสเซีย” เราจะคิดว่าที่นี่คือยุโรป ที่นี่คือ “ไครเมีย” หรือที่ได้สมญานามว่า ริเวียร่า แห่งรัสเซีย. ไครเมีย เหมาะกับ คู่รักที่มาหาความสงบช่วงฮันนีมูน หรือ ครอบครัวที่อยากมีช่วงเวลาแห่งความสุขร่วมกันในส่วนที่สวยที่สุดของทะเลดำแห่งรัสเซีย
มรดกตกทอดจากตาตาร์ (Tatars) สู่ฉากหนึ่งในบทกวีชิ้นเอกของปุชกิ้น (Pushkin)
บางท่านอาจจะไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าวังแขก ๆ แห่งนี้จะตั้งอยู่ในทวีปยุโรป แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเพราะว่า คาบสมุทรไครเมียตั้ง (Crimean Peninsula) อยู่ในทำเลทองกึ่งกลางทะเลดำ จุดเชื่อมโยงการค้าที่สำคัญอีกแห่งระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก จึงไม่แปลกใจที่ไครเมียจะผ่านการครอบครองจากหลายชนชาติ หลายอารยธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรีก เจนัว ซีเธียน ตาตาร์ และรัสเซีย
เดินทางสู่ซิมฟีโรปอล (Simferopol)
เพียงหนึ่งชั่วโมงจาก ท่าอากาศยานซิมฟีโรปอล (Simferopol) สนามบินหลักของสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Republic of Crimea) เราก็จะมาถึงเมืองที่เรียกว่า “บัคชีซาราย” (Bakhchysarai) ซึ่งผู้เขียนเรียกชื่อเล่นอย่างติดปากว่า “ผักชีสาหร่าย” เมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นหุบเขา ช่องเขาเล็ก ๆ ที่ไม่สูงมากนัก แต่น่าจะเป็นป้อมปราการทางธรรมชาติที่ดีของผู้ปกครองชาวตาตาร์
“บัคชีซาราย”(Bakhchysarai) เป็นภาษาตาตาร์ ภาษาตระกูลเติร์กที่มีความหมายว่าเมืองหรือป้อมแห่งสวนดอกไม้ อธิบายลักษณะของวังแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีที่ตัววังมีกำแพงล้อมรอบราวกับป้อมปราการ โดยด้านในมีสวนที่มีดอกไม้ผลิดอกออกใบอย่างสวยงามสมชื่อ
โถงท้องพระโรงใหญ่ ประดับประดาด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ แชนเดอเลียร์ และกระจกสีสไตล์เปอร์เซีย
พระราชวังข่านเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งบักชีซาราย สร้างในช่วงศตวรรษที่ 16 และเคยมีพื้นที่ใหญ่ต่อถึง 18 เฮคเตอร์ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 4.3 เฮคเตอร์เท่านั้นตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป โดยประกอบไปด้วยตำหนัก ฮาเร็ม บ่อสรง สุเหร่าหลวงใหญ่น้อย สวนดอกไม้ สุสานหลวง โดยสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบออตโตมานเติร์กผสมผสานกับเปอร์เซียนและอิตาเลียน ตามคติของชาวมุสลิมเกี่ยวกับสรวงสวรรค์ซึ่งวังแห่งนี้จะเป็นการจำลองสวรรค์มาไว้บนโลกมนุษย์โดยท่านข่านนี่เอง
เดิมทีที่ตั้งรกรากของชาวตาตาร์แห่งไครเมียจะอยู่บริเวณหุบเขาอัชลามา-เดเร แต่ต่อมาเกิดคับแคบและขยับขยายได้ลำบากจึงมีการเฟ้นหาทำเลที่ตั้งราชธานีใหม่ซึ่งก็คือบริเวณบัคชีซารายในปัจจุบัน และเริ่มมีการสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นในรัชสมัยของข่านซาหิบ กีราย (Khan Sahib Giray) โดยอาคารหลังแรกเป็นสุเหร่าหลวงและถือว่าเป็นหนึ่งในสุเหร่าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยสร้างในปี 1532 และต่อมาจึงมีการก่อสร้างอาคารอื่น ๆ และมีการขยับขยายพื้นที่เพิ่มเติม
ราชวงศ์กีรายปกครองรัฐข่านแห่งไครเมียเรื่อยมาจนกระทั่งปลายเข้าสู่ปลายราชวงศ์ในรัชสมัยของข่านคีริม กีราย (Khan Qirim Giray) รัชสมัยที่มีการขยายวังอย่างกว้างขวาง โดยในยุคนี้เองที่เป็นยุคสมัยที่เกิดตำนานนำพุแห่งบัคชีซารายซึ่งโดนใจอเล็กซานเดอร์ ปุชกิ้น กวีเอกแห่งรัสเซียเป็นอย่างมากจนถึงกับนำไปแต่งในบทกวีนิพนธ์เลยทีเดียว