หลายวันที่ผ่านมา ประเด็นร้อนฉ่าที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษหนีไม่พ้นข่าวที่รัสเซียยึดเรือของกองทัพยูเครน ซึ่งสร้างความตึงเครียดระลอกใหม่ในบริเวณคาบสมุทรไครเมีย ขณะที่นานาชาติหวั่นเกรงว่าเหตุการณ์กระทบกระทั่งครั้งนี้อาจนำไปสู่สงครามได้ทุกเมื่อ
เกิดอะไรขึ้นที่ช่องแคบเคิร์ช
การเผชิญหน้ากันระหว่างทหารรักษาชายแดนรัสเซียกับทหารเรือของยูเครนเกิดขึ้นในบริเวณช่องแคบเคิร์ช ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเป็นช่องทางเดินเรือที่เชื่อมระหว่างทะเลดำกับทะเลอะซอฟ
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เรือติดอาวุธ Berdyansk และ Nikopol และเรือพ่วง Yana Kapu ของกองทัพเรือยูเครนแล่นออกจากท่าเทียบเรือในเมืองโอเดสซา (ทะเลดำ) เพื่อมุ่งหน้าไปยังเมืองมาริอูโปลในทะเลอะซอฟ แต่ถูกรัสเซียเข้าสกัดโดยการพุ่งชนใส่เรือพ่วงบริเวณช่องแคบเคิร์ชใกล้กับคาบสมุทรไครเมีย
นอกจากนี้รัสเซียยังส่งเครื่องบินขับไล่ 2 ลำ และเฮลิคอปเตอร์อีก 2 ลำเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว และกล่าวหาว่าเรือของยูเครนล่วงล้ำน่านน้ำอาณาเขตของรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย
จากนั้นรัสเซียได้ส่งทหารขึ้นตรวจค้นเรือและยึดเรือทั้ง 3 ลำ พร้อมควบคุมตัวลูกเรือไว้ 24 คน
ฝั่งยูเครนระบุว่า เรือของพวกเขาถูกยิงโจมตี และเหตุปะทะครั้งนี้ทำให้ลูกเรือของยูเครนได้รับบาดเจ็บ 6 คน แต่รัสเซียยืนยันว่า มีผู้บาดเจ็บเพียง 3 คน
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) ศาลไครเมียได้สั่งจำคุกลูกเรือของยูเครน 5 คน เป็นเวลา 2 เดือน จากความผิดฐานมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนในวันนี้ (28 พ.ย.) จะมีลูกเรืออีก 12 คน ขึ้นให้การในชั้นศาล หลังรัสเซียกล่าวหาว่าบุกรุกน่านน้ำอาณาเขตของรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย
ทำไมทะเลอะซอฟจึงกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งครั้งใหม่
อาจกล่าวได้ว่า นับจากปัญหาไครเมียที่รัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐในปี 2014 ทะเลอะซอฟก็ได้กลายเป็นกรณีพิพาทครั้งใหม่ระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านคู่ปรปักษ์
อันที่จริงแล้วช่องแคบเคิร์ชและทะเลอะซอฟเป็นน่านน้ำที่รัสเซียและยูเครนกำหนดเป็นอาณาเขตร่วมกันภายใต้ข้อตกลงที่สองชาติทำเมื่อปี 2003 โดยเรือพาณิชย์ของสองประเทศมีสิทธิ์เต็มที่ในการเดินเรืออย่างเสรีในฟากฝั่งของตน ส่วนเรือทหารสามารถแล่นผ่านได้โดยแจ้งให้อีกฝ่ายทราบ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการพล็อตเส้นประแบ่งเขตกันอย่างชัดเจน
แต่หลังจากที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียมาจากยูเครนในปี 2014 สถานการณ์ก็พลิกผันไป โดยเฉพาะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัสเซียได้ตรวจตราเรือทุกลำที่แล่นออกหรือมุ่งหน้าสู่ท่าเรือยูเครน ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ยูเครนเป็นอย่างมาก เพราะการกระทำนี้ถือเป็นการควบคุมช่องแคบนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว ท่ามกลางความเคลือบแคลงจากนานาชาติว่า รัสเซียอาจมีแผนการใหญ่แอบแฝงอยู่
ยูเครนกล่าวหาว่า รัสเซียพยายามปิดล้อมยูเครนทางเศรษฐกิจโดยพฤตินัย ด้วยการขัดขวางไม่ให้เรือเข้าถึงท่าเรือสำคัญในทะเลอะซอฟ โดยเฉพาะเมืองท่ามาริอูโปล ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมส่งออกเหล็กกล้าและเมล็ดพืช และฮับอุตสาหกรรมนำเข้าถ่านหินของประเทศ นอกจากนี้การปิดเส้นทางเดินเรือยังเป็นการดัดช่องทางลำเลียงยุทธปัจจัยของยูเครน หากมีการทำสงครามกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกของประเทศ
ข้อมูลจากยูเครนระบุว่า ผลจากการควบคุมเส้นทางเดินเรือทำให้มูลค่าการค้าของยูเครนตกฮวบลงถึง 30% ขณะที่ยอดส่งออกจากมาริอูโปลหดตัวลง 6% เช่นเดียวกับยอดนำเข้าที่ร่วงลงเกือบ 9% ในปีนี้
รัสเซียยังพยายามเชื่อมดินแดนไครเมียกับแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียด้วยระบบขนส่งทางบก โดยก่อนหน้านี้รัสเซียเพิ่งเปิดใช้สะพานยาว 19 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อสองดินแดนเข้าด้วยกันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สะพานแห่งนี้มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ และรัสเซียก็ใช้เป็นข้ออ้างในการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการเพิ่มเรือคอยลาดตระเวนทั้งในเขตช่องแคบเคิร์ชและทะเลอะซอฟ
แน่นอนว่าเรือสินค้าของยูเครนก็ได้รับผลกระทบจากสะพานนี้ด้วย เพราะโครงสร้างของสะพานเป็นอุปสรรคต่อการลอดผ่านของเรือบางชนิด
ความเสี่ยงสู่สงครามประจันหน้า
อย่างที่ทราบกันว่ารัสเซียและยูเครนเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอดทั้งก่อนและหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ความระหองระแหงเพิ่มทวีขึ้นในช่วงที่ยูเครนเผชิญศึกภายในจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออก โดยรัสเซียถูกกล่าวหาว่าคอยให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏในแคว้นโดเนตสก์และลูฮานสก์ ทั้งการส่งทหารเข้าไปช่วยกบฏ และการลำเลียงยุทโธปกรณ์ไปติดอาวุธให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดน แม้ว่ารัสเซียจะยืนกรานปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม
เหตุการณ์ที่เครื่องบินเที่ยวบิน MH17 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ถูกยิงตกในยูเครนเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2014 ก็เป็นอีกชนวนความบาดหมางระหว่างสองชาติ เพราะยูเครนกล่าวหาว่าอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานที่กลุ่มกบฏใช้ เป็นระบบที่นำเข้าจากรัสเซีย ซึ่งกลายเป็นประเด็นใหญ่โตมากในเวลานั้น
และหลังจากที่รัสเซียยึดเรือและจับกุมลูกเรือของยูเครนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้นานาชาติหวั่นเกรงว่า ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่สั่งสมมานานอาจระเบิดเป็นสงครามเต็มรูปแบบในไม่ช้านี้
ยูเครนได้สั่งกองทัพเตรียมพร้อมสู้รบเต็มพิกัด ขณะที่ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ได้ยื่นญัตติให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติกฎอัยการศึกใน 10 แคว้น เป็นเวลา 30 วัน
ล่าสุดกฎอัยการศึกได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภายูเครนแล้ว ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาณลั่นกลองรบของกองทัพยูเครน โดยโปโรเชนโกระบุว่า การบังคับใช้กฎอัยการศึกคือการเตรียมความพร้อมของกองทัพยูเครน เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากรัสเซียที่กำลังขยายตัว ซึ่งครอบคลุมการเคลื่อนกำลังทหารบางส่วน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน
อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีในต่างประเทศมองว่าโอกาสเกิดสงครามเต็มรูปแบบยังมีไม่มาก
สำหรับยูเครนแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ หากจะใช้มาตรการทางทหารกับรัสเซีย เพราะการทำเช่นนั้น ย่อมอาจถูกตอบโต้ด้วยกำลังทหารจากรัสเซีย ซึ่งมีกองเรือทะเลดำอันเกรียงไกรประจำการอยู่ในไครเมีย และพร้อมหันปากกระบอกปืนเล็งไปยังยูเครนได้ทุกเมื่อ
ส่วนรัสเซียเองก็ต้องคิดหน้าคิดหลัง เพราะแรงกดดันจากนานาชาติที่พร้อมจะงัดมาตรการคว่ำบาตรเพื่อเล่นงานรัสเซียทุกเมื่อ ซึ่งท้ายที่สุดย่อมไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจรัสเซียที่กำลังฟื้นตัว
สัญญาณเตือนที่ว่านั้นมาแล้ว เมื่อค่าเงินสกุลรูเบิลของรัสเซียร่วงลงอย่างหนักเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 พ.ย.) หลังยูเครนเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรตะวันตกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย
แรงกดดันถาโถมรัสเซีย
สหภาพยุโรป (EU) คาดหวังว่าสองฝ่ายจะสามารถแก้ปัญหาได้โดยสันติวิธี โดยขอให้ทั้งรัสเซียและยูเครนอดกลั้นและหันหน้าเข้าเจรจากัน พร้อมเรียกร้องให้รัสเซียคืนเสรีภาพในการเดินเรือในช่องแคบเคิร์ช แต่นักวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสไม่มากที่รัสเซียจะยอมถอยในเรื่องนี้
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นักการเมืองในยุโรปพยายามผลักดันมาตรการคว่ำบาตรใหม่ๆ เพื่อกดดันรัสเซียให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น
ขณะที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งเป็นพันธมิตรของยูเครน ได้ออกแถลงการณ์หนุนหลังยูเครนเต็มที่ พร้อมเตือนรัสเซียให้เคารพหลักอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ซึ่งรวมถึงสิทธิเดินเรือในน่านน้ำอาณาเขตของพวกเขา
แน่นอนว่าทุกฝีก้าวของรัสเซียหลังจากนี้จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิด ขณะที่ประเด็นการปะทะในน่านน้ำคาบสมุทรไครเมียอาจกลายเป็นหัวข้อการประชุมที่ครอบงำเวทีซัมมิต G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินาในสัปดาห์นี้ เพราะหลายประเทศต้องการคำอธิบายจากรัสเซียเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถูกมองว่ามีความสนิทสนมกับปูติน ก็ไม่พอใจกับกรณีการยึดเรือยูเครนในช่องแคบเคิร์ชเช่นกัน
ทรัมป์เผยกับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่า เขาอาจพิจารณายกเลิกการหารือนอกรอบกับปูตินในที่ประชุมสุดยอด G20 เพราะเขาไม่ชอบพฤติการณ์ที่ ‘ก้าวร้าว’ ของรัสเซีย
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจึงทำให้รัสเซียเสี่ยงถูกประชาคมนานาชาติโดดเดี่ยวอีกครั้ง
แม้ที่ผ่านมารัสเซียอาจไม่สะทกสะท้านกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากกรณีการผนวกดินแดนไครเมีย การสนับสนุนกลุ่มกบฏในยูเครนตะวันออก ไปจนถึงเหตุการณ์เครื่องบิน MH17 ตก และดูเหมือนทำเนียบเครมลินจะไม่ครั่นคร้ามต่อคำเตือนใดๆ ด้วย
แต่เหตุการณ์ยึดเรือครั้งนี้อาจแตกต่างออกไป เพราะยูเครนประกาศกร้าวแล้วว่า จะไม่ยอมปล่อยให้ทะเลอะซอฟตกอยู่ในมือของรัสเซียเหมือนกับไครเมียอีกต่อไป ขณะที่นาโตก็พร้อมหนุนหลังยูเครนในการสกัดอิทธิพลของรัสเซียอย่างเต็มที่ ต้องติดตามกันต่อว่าศึกนี้จะจบอย่างไร หรือใครจะยอมถอยก่อนกัน