คาบสมุทรไครเมีย หลัง 3 ปีใต้อารักขามหาอำนาจหมีขาว

ไครเมีย, รัสเซีย, ท่องเที่ยว

คำบรรยายภาพ
รัสเซียหวังว่าสะพานเชื่อมคาบสมุทรไครเมียจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้หลายเรื่อง

สตีฟ โรเซนเบิร์ก ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำรัสเซีย ต้องพบกับอุปสรรคมากมายในการเดินทางผ่านแดนจากยูเครนไปยังคาบสมุทรไครเมีย ดินแดนที่รัสเซียถูกนานาชาติประณามว่าใช้กำลังทหารเข้าผนวกเอาเป็นของตนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยความยากลำบากในการขอใบอนุญาตเดินทางเข้าไครเมียจากฝั่งยูเครน และการถูกสอบสวนอย่างละเอียดนานนับสิบชั่วโมงจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองรัสเซีย เป็นเครื่องหมายตอกย้ำถึงความตึงเครียดและความระแวงสงสัยฝ่ายตรงข้ามระหว่างรัสเซียและยูเครนในเรื่องของคาบสมุทรไครเมียที่ยังคงไม่ยุติลง

ปัจจุบันทางการยูเครนเรียกไครเมียว่า “ดินแดนไครเมียที่ถูกยึดครองชั่วคราว” และไม่เรียกพื้นที่บริเวณจุดผ่านแดนว่า “พรมแดน” แต่เรียกว่า “จุดควบคุมการเข้าออก” แสดงถึงการยืนยันความเป็นเจ้าของคาบสมุทรไครเมียอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ไครเมีย, รัสเซีย, ท่องเที่ยว
คำบรรยายภาพรัสเซียไม่สะทกสะท้านต่อการประณามจากนานาชาติว่าใช้กำลังทหารเข้าผนวกไครเมีย

ที่เมืองซิมเฟอโรปอล ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจของไครเมีย มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นขนานใหญ่ โดยตัวเมืองทั่วไปมีความคล้ายคลึงกับเมืองในรัสเซียมากขึ้น รถยนต์ส่วนมากเปลี่ยนป้ายทะเบียนมาเป็นแบบของรัสเซีย มีรถบัสรุ่นใหม่ที่ผลิตใกล้กรุงมอสโกออกวิ่งกันเต็มถนน ป้ายโฆษณาเต็มไปด้วยภาพและข้อความของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อยู่ทุกแห่งหน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้สัญญาจะพัฒนาเศรษฐกิจของไครเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม “ไครเมียเป็นของพวกเราทุกคน” ผู้นำรัสเซียกล่าวผ่านป้ายโฆษณาที่มีอยู่เกลื่อนเมือง

โอลก้า คอซิโค อดีตครูที่เกษียณอายุแล้วบอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า ชาวไครเมียต่างสนับสนุนประธานาธิบดีปูตินในฐานะวีรบุรุษผู้ส่งทหารรัสเซียมาปกป้องชาวไครเมียจากการกดขี่ประหัตประหารของรัฐบาลชาตินิยมยูเครน ซึ่งเปรียบเสมือนระบอบเผด็จการฟาสซิสต์และนาซีใหม่ที่โหดร้าย

ไครเมีย, รัสเซีย, ท่องเที่ยว
คำบรรยายภาพครอบครัวสุขสันต์ชาวไครเมียขับรถสามล้อพ่วงผ่านหน้าภาพวาดผู้นำรัสเซียซึ่งพบได้ทั่วเมือง

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2014 กลุ่มชายสวมหน้ากากและเครื่องแบบที่ไม่บ่งบอกสังกัดบุกเข้ามาในเมืองซิมเฟอโรปอลของไครเมีย พวกเขามีอาวุธของรัสเซียและเข้ายึดอาคารที่ทำการรัฐบาลรวมทั้งฐานทัพของยูเครน กองกำลังลึกลับนี้ได้รับฉายาที่เรียกขานกันในหมู่ชาวไครเมียหลายชื่อ รวมทั้ง “ชายสีเขียวตัวน้อย” และ “สุภาพชน” ซึ่งต่อมาทางการรัสเซียยอมรับว่าคนเหล่านี้คือกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ (SSO) นั่นเอง ภายหลังผู้นำรัสเซียได้ลงนามในคำสั่งให้วันที่ 27 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ และทางการไครเมียได้ตั้งอนุสาวรีย์แสดงความขอบคุณต่อ “สุภาพชน” ที่มาปลดปล่อยพวกตนไว้กลางเมืองอีกด้วย

แม้หลังการผนวกไครเมีย รัสเซียจะได้จัดให้มีการลงประชามติซึ่งผลปรากฏว่าชาวไครเมียสมัครใจเลือกเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียกันอย่างล้นหลามถึงร้อยละ 95 แต่ความเป็นจริงหลังสามปีใต้อารักขาของรัฐบาลมอสโกสะท้อนความเห็นที่แตกต่างออกไป บางคนต้องการอยู่กับรัสเซียเพื่อชีวิตที่ปลอดภัยไร้สงคราม ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้งภายใต้การปกครองของยูเครน แต่หลายคนเริ่มคำนึงถึงปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนสังกัดการปกครอง โดยการตัดขาดกับยูเครนทำให้การลำเลียงสินค้าทำได้เพียงทางทะเลหรือขนส่งทางอากาศเท่านั้น ซึ่งจะไปเพิ่มต้นทุนและทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วไครเมียได้รับผลกระทบ เพราะเสียสัมพันธ์การค้าที่เคยมีอยู่กับยูเครนไป

รัสเซียสัญญาว่า จะสร้างสะพานข้ามทะเลเชื่อมคาบสมุทรไครเมียกับดินแดนของตน โดยจะลงทุนเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและช่วยให้ไครเมียเชื่อมต่อเข้ากับระบบเศรษฐกิจของรัสเซียได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่องช้าของระบบราชการรัสเซียทำให้หลายคนมองว่าโครงการนี้ไม่น่าจะสำเร็จลงในอนาคตอันใกล้ ทุกวันนี้ชาวไครเมียต้องต่อแถวยาวหน้าที่ทำการของรัฐบาลรัสเซียทุกวัน เพื่อเปลี่ยนเอกสารสำคัญเช่นโฉนดที่ดินให้เป็นแบบรัสเซีย แต่ทางการทำงานช้ามาก บางคนต้องรอต่อแถวอยู่ทั้งคืน

ไครเมีย, รัสเซีย, ท่องเที่ยว
คำบรรยายภาพเศรษฐกิจของไครเมียต้องพบอุปสรรคขณะพยายามปรับตัวให้เข้ากับระบบของรัสเซีย

โรเดียน ศิลปินชาวไครเมียผู้หนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า มีคนจำนวนไม่น้อยในไครเมียที่ยังรักความเป็นยูเครนอยู่ และในส่วนลึกของจิตใจยังรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ทางการรัสเซียยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นได้ ส่วนชนกลุ่มน้อยในไครเมียที่รักษาอัตลักษณ์ของตนเองอย่างเข้มแข็งเช่นชาวทาทาร์ก็ถูกทางการรัสเซียปราบปรามอย่างหนักตลอดสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีแนวคิดจัดตั้งเขตปกครองตนเอง และเคยมีประวัติถูกอดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคือสตาลินระแวงสงสัยว่าจะร่วมมือกับนาซี จนเกิดการเนรเทศชาวทาทาร์ในไครเมียกว่าสองแสนคนไปยังเอเชียกลางมาแล้ว

ชาวทาทาร์ในไครเมียมีความคับข้องใจว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลรัสเซียที่เข้ามาปกครองในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ในหมู่ชาวไครเมียโดยทั่วไป ยังคงสามารถพบได้ทั้งกลุ่มนิยมรัสเซียและผู้ที่ต้องการกลับไปอยู่ภายใต้ปกครองของยูเครนปะปนกัน แต่ความเห็นต่างในเรื่องนี้ยังไม่ได้ปรากฏเป็นความขัดแย้งรุนแรงแต่อย่างใด

คาบสมุทรไครเมีย หลัง 3 ปีใต้อารักขามหาอำนาจหมีขาว